
กลายเป็นที่ฮือฮาบนโลกโซเชียลเมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ภาพวัตถุประหลาดพุ่งขึ้นมาแบบช้าๆ รูปร่างเหมือนดาวหางเหนือดอยอินทนนท์ เมื่อคืนของวันที่ 25 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา
โดยล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก "NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ" ได้ออกมาเผยข้อมูลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเล่าว่า....กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เคียงคู่ดาวหางลีโอนาร์ด เหนือดอยอินทนนท์ 25 ธันวาคม 2564 ในภาพนี้อาจจะมีวัตถุที่ดูคล้ายดาวหางอยู่ด้วยกันสองวัตถุ แท้จริงแล้วมีเพียงหนึ่งในวัตถุนั้นคือ #ดาวหาง และวัตถุทั้งสองนั้นกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ดาวหางด้านล่างของภาพคือดาวหาง C/2021 A1 Leonard ดาวหางนั้นประกอบขึ้นจากน้ำ แอมโมเนีย หิน กรวด กรดอะมิโน และสารอินทรีย์ เมื่อดาวหางเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ แสงจากดวงอาทิตย์จะทำให้วัตถุในดาวหางระเหิดออก และทิ้งเป็นทางให้เราเห็น ดาวหางนั้นเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และถือกำเนิดขึ้นมานานตั้งแต่กว่า 4,500 ล้านปีที่แล้วพร้อมกับระบบสุริยะ ขณะที่บันทึกภาพนี้ ดาวหาง C/2021 A1 Leonard กำลังเดินทางออกห่างจากโลกไปยังดวงอาทิตย์
ส่วนวัตถุที่เหมือน “ดาวหาง” ด้านบนนั้น แท้จริงแล้วคือส่วนหนึ่งของภารกิจกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope: JWST) ที่มนุษย์สร้างขึ้น และเพิ่งถูกส่งขึ้นไปด้วยจรวด Ariane 5 จากฐานปล่อยในเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ เมื่อเย็นวันที่ 25 ธันวาคม 2564 เวลา 19:20 น. ตามเวลาประเทศไทย ขั้นตอนที่เห็นนั้นเป็นส่วนของ Upper Stage หลังจากที่ลำเลียงกล้องโทรทรรศน์อวกาศไปยังวงโคจรเป้าหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และที่เห็นเป็นชิ้นส่วนของ Upper Stage และแก๊สที่ขับออกมาตลอดการขับดัน JWST ที่กำลังโคจรไปในวงโคจรใกล้เคียงกันกับ JWST และความร้อนที่ยังหลงเหลืออยู่จากเครื่องยนต์จรวดเปล่งเป็นแสงสีฟ้า ความร้อนที่เกิดจากเชื้อเพลิงจรวดชนเข้ากับชั้นบรรยากาศโลกนั้นทำให้ชั้นบรรยากาศโลกเปล่งแสงออก เป็นวงกลมรอบๆ เชื้อเพลิงที่ทิ้งออกมา ดังภาพ
วัตถุทั้งสองนี้ แม้ว่าจะอยู่ในภาพเดียวกัน แต่ทั้งสองก็มีจุดหมายปลายทางที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ดาวหาง Leonard นั้นกำลังพุ่งไปหาดวงอาทิตย์ และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 3 มกราคม 2565 ก่อนที่จะเลยออกไปยังอีกฟากหนึ่งของระบบสุริยะ ในขณะที่ JWST นั้นกำลังเดินทางไปยังจุด L2 ซึ่งก็คือบริเวณด้านหลังของโลกตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ที่มันจะใช้เวลาอีกมากกว่าสิบปีในการปฏิบัติภารกิจบันทึกภาพในย่านคลื่นอินฟราเรด สังเกตกาแล็กซีที่ไกลที่สุดที่มนุษย์ยังไม่เคยเห็นมาก่อน สังเกตการณ์ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเพื่อหาความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิต และเปิดเผยภาพอีกมากที่เรายังไม่เคยเห็น
อย่างไรก็ตาม วัตถุทั้งสองนั้นก็ยังมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง แสงเรืองที่เราสังเกตเห็นจากวัตถุทั้งสองนั้นมีทั้งส่วนที่สะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ (เช่น ในเชื้อเพลิงของจรวด และในส่วนหัวของดาวหาง) และทั้งสองต่างก็มีส่วนที่เกิดจากแก๊สร้อนอุณหภูมิสูงมากเสียจนเปล่งแสงออกมาเป็นพลาสมา (เช่น ในส่วนของพลาสมาวงกลมที่เกิดในชั้นบรรยากาศโลกรอบๆ จรวด และส่วนหางของดาวหาง)
และที่สำคัญที่สุด สิ่งหนึ่งที่วัตถุคล้ายดาวหางทั้งสองนี้คล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก ก็คือวัตถุทั้งสองนี้กำลังเดินทางห่างออกไปจากโลกอย่างไม่มีวันกลับมาอีก JWST นั้นจะต้องใช้เวลาต่อไปอีกประมาณ 29 วันก่อนที่จะไปถึงยังตำแหน่งเป้าหมาย ณ จุด L2 ที่อยู่ห่างออกไปถึง 1.5 ล้านกิโลเมตร แม้ว่าระยะทาง 1.5 ล้านกิโลเมตรอาจจะไม่ใช่ระยะทางที่ไกลมากเมื่อเทียบกับระบบสุริยะ แต่ก็เป็นระยะทางที่ไกลเกินกว่านักบินอวกาศคนใดเคยไปถึง และปัจจุบันนี้เรายังไม่มีความสามารถที่จะส่งยานอวกาศลำใดไปเยือน JWST ได้หากเกิดเหตุขัดข้องขึ้น นี่จึงนับเป็นครั้งสุดที่เราจะได้เห็น JWST
ส่วนสำหรับดาวหาง Leonard นั้น หลังจากที่ได้โคจรอยู่ในระบบสุริยะมานานนับ 4,500 ล้านปี ครั้งสุดท้ายที่ Leonard ได้มาเยือนยังระบบสุริยะชั้นในนั้นเกิดขึ้นเมื่อราว 80,000 ปีที่แล้ว แต่ในครั้งนี้นั้น แรงเหวี่ยงที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ทำให้วงโคจรของ Leonard นั้นเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะได้เห็นดาวหาง Leonard หลังจากนี้ดาวหาง Leonard จะค่อยๆ จางลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะจางหายไปจนไม่สามารถสังเกตได้ ก่อนที่จะใช้เวลาอันแสนยาวนานค่อยๆ เดินทางออกห่างจากระบบสุริยะของเรา ก่อนที่จะไปรวมกับระบบดาวฤกษ์อื่นต่อไป
เรียบเรียงโดย : daratop.com ข้อมูล : ดร. มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ