สร้างบ้านบนพื้นที่แค่ 56 ตร.ว. สวยน่าอยู่ แถมยังมีที่ปลูกผักสวนครัว

   

       การออกแบบบ้านเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสไตล์บ้าน ขนาดของตัวบ้านให้เหมาะสมกับขนาดของที่ดิน หลายคนมีพื้นที่จำกัด การออกแบบบ้านให้ตอบโจทย์ต้องการอยู่อาศัยมากที่สุด

        ล่าสุด ทางด้านผู้ใช้เฟสบุ๊ก Ten Sukanan ได้โพสต์รีวิวการสร้างบ้านผสมผสานหลากหลายสไตล์ ไม่ว่าแบบอีสาน มินิมอล ลอฟท์ โมเดิร์น มีกลิ่นอายญี่ปุ่นนิดๆ คุมงานเองทั้งหมด โดยได้โพสต์ระบุว่า.... 

        ใช้เวลา 1 ปีครึ่ง ในการสร้างบ้านหลังนี้ เริ่มตั้งแต่ การหาซื้อที่ดิน การออกแบบ ขออนุญาตก่อสร้าง การขอสินเชื่อ การหาผู้รับเหมา การควบคุมการก่อสร้าง การหาซื้อของ การขอเลขที่บ้าน น้ำ ไฟ การเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ ยอมรับว่าเหนื่อยมากๆ แต่ก็ได้บ้านในแบบที่เราต้องการจริงๆ

สร้างบ้านบนที่ดินขนาดแค่ 56 ตารางวา

ควบคุมการก่อสร้างเอง 

        ด้วยหาซื้อที่ดินมีขนาดแค่ 56 ตารางวา ใกล้ๆ สนามบินขอนแก่น ซึ่งมีขนาดเล็ก ถ้าหากสร้างบ้านชั้นเดียวจะไม่มีที่ปลูกต้นไม้ ประกอบกับต้องการบ้านที่มีใต้ถุนบ้านแบบบ้านโบราณอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่สมาชิกในบ้านมารวมกันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ และชอบปลูกต้นไม้ และผักสวนครัวตามแบบฉบับคนบ้านนอก บ้านหลังนี้จึงไม่ได้มีรูปแบบใดโดยเฉพาะแต่เป็นการผสมผสานกันหลากหลาย ไม่ว่า แบบอีสาน มินิมอล ลอฟท์ โมเดิร์น มีกลิ่นอายญี่ปุ่นนิดๆ

        บ้านหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอยรวม 180 ตารางเมตร ประกอบด้วย 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องเอนกประสงค์ 1 ครัว ด้านบน 1 ครัว ด้านล่าง 1 ห้องเก็บของ ซึ่งเมื่อใช้งานจริงๆ ห้องนี้มีประโยชน์มากๆ และจอดรถได้ 2 คัน ราคาก่อสร้างรวมรั้วอยู่ที่ประมาณ 1.85 ล้านบาทครับ

พื้นที่ใช้สอยรวม 180 ตารางเมตร  

2 ห้องนอน 

        ตอนนี้เข้ามาอยู่บ้านใหม่ได้ประมาณ 2 เดือนแล้วพืชผักเติบโตให้เก็บกิน เมื่อเอาความเหนื่อยและความยุ่งยากในการสร้างบ้านที่ผ่านมา ก็ยอมรับว่าผลตอบแทนนั้นคุ้มค่า เป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังสร้างบ้านครับ

ห้องนอน 

2 ห้องน้ำ 

        เพิ่มเติม : หลายๆ ท่านให้ความสนใจรูปแบบบ้านและมีคำถามได้ถามเข้ามามากมายจึงขออนุญาตตอบคำถามโดยรวม ตามประเด็นที่มีคำถามที่ถามมามากที่สุด นะครับ

        1. พื้นที่บ้านหลังนี้ 56.6 ตารางวา กว้าง 12. เมตร ยาว 18 เมตร หน้าบ้านหันทางทิศตะวันออก

        2. ขนาดตัวบ้าน ชั้นครึ่ง ขนาดตัวบ้านเดิม 160 ตารางเมตร ต่อเติมด้านข้างและหลัง 20 ตารางเมตรโดยพื้นที่ด้านล่างส่วนใหญ่เปิดโล่ง จำนวน 2 ห้องนอน (ห้องนอนใหญ่มีพื้นแต่งตัว) 2 ห้องน้ำ 1 ห้องเอนกประสงค์ 1 ห้องทำงานเล็กๆ 2 ห้องครัว 1 ห้องเก็บของ และ1 พื้นที่เก็บของแบบเปิดโล่ง จอดรถปกติได้ 2 คัน (3 คันแบบเต็มพื้นที่) โดยผมออกแบบขั้นต้น และส่งต่อให้ผู้ออกแบบและเขียนแบบเพื่อก่อสร้าง และได้จ้างคนเขียน 3D เพื่อดูภาพรวมของการออกแบบก่อนทำ Drawing ราคาค่าก่อสร้าง ณ ขณะนั้น 1.85 ล้านบาท เป็นบริษัทรับสร้างบ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง

        3. แนวคิดการออกแบบ คือ การใช้ชีวิตแบบคนไทยอีสานดั้งเดิม สร้างพื้นที่ส่วนกลางให้มากที่สุด และสามารถปรับเปลี่ยน functions การใช้งานตามโอกาส จึงทำให้ความต่อเนื่องของการใช้พื้นที่ ตั้งแต่ใต้ถุนบ้านที่เป็นทั้งที่จอดรถ พื้นที่สังสรรค์ ครัว พื้นที่เก็บของ หรือการเชื่อมโยงของ ระเบียง ห้องเอนกประสงค์ ห้องทำงาน ครัวด้านบน เมื่อเลื่อนประตูออกก็จะเป็นพื้นที่เดียวกัน

ครัว 

        4. รูปแบบบ้านนอร์ดิกมีปัญหารั่วซึม หรือปัญหาความร้อนหรือไม่ ปัญหาความร้อนความร้อน ด้วยที่บ้านหันหน้าทางทิศตะวันออก เลยไม่มีปัญหาเรื่องอุณหภูมิช่วงบ่าย บวกกับการออกแบบเพดานสูง และในหลังที่ 1 มีช่องว่างให้ความร้อนเก็บตัวด้านบนค่อนข้างเยอะ รวมถึงการออกแบบตำแหน่ง+ขนาดของประตูหน้าต่างที่เหมาะสม เลยทำให้ตอนกลางวันยังไม่ร้อนเท่าไหร่ แต่ยังไม่เคยเจอหน้าร้อนจริง ๆในช่วงเดือนมีนาคม/เมษายน ว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนปัญหาการรั่วซึมนั้นก่อนที่จะเลือกออกแบบบ้านสไตล์นี้ก็ได้ศึกษาความเสี่ยงประเด็นนี้มาพอสมควร จึงและพยายามที่จะวางแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่การก่อสร้างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง ส่วนเรื่องฝนสาดนั้น มีครับเป็นธรรมดา จึงเลือกใช้ประตูหน้าต่างอลูมิเนียมชนิดที่ป้องกันการรั่วซึมได้ดีมากขึ้นซึ่งราคาสูงกว่าปกติ

        5. แนวคิดในการจัดสวนของผมคือ ร้อยละ 90 เป็นพืชที่กินได้ และเป็นพืชท้องถิ่น ครับเพื่อให้สามารถดูแลได้ เหมาะกับสภาพอากาศของอีสาน พืชที่เลือกมาปลุกจะมีทั้งไม้ยินต้น และประเภทผัก เช่น จิกน้ำเป็นไม้ประธาน มีขี้เหล็ก ต้นแม็ก ย่านาง ผักแพว ผักแขยง ผักติ้ว ประเภทเฟิร์นเลือกปลูกเป็นผักกูด เป็นต้นครับ

        6. บ้านหลังนี้สามารถดัดแปลงเพื่อให้ใช้พื้นที่ได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นสามารถเพิ่มเติมห้องได้หลังคาได้ ในอาคารฝั่งสูง (มีความสูงเหลือสบายๆ) หรือทำเป็นดาดฟ้าชมวิวได้ในอาคารฝั่งกล่อง ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ครับ

        หวังว่าคำตอบนี้คงเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านนะครับและสุดท้ายขอขอบคุณทุกความคิดเห็น ที่ให้ความสนใจในบ้านหลังนี้ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านในการสร้างบ้านด้วยครับ

       เป็นการออกแบบบ้านที่ดีมากๆ เลยทีเดียว แม้ว่าพื้นที่จะน้อย ไม่คิดว่าจะออกแบบให้มีพื้นที่ไว้ปลูกผักด้วย ตัวบ้านดูทันสมัย ภายในก็จัดได้อย่างน่าอยู่เป็นอย่างมาก

เรียบเรียงโดย : daratop.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก Ten Sukanan 

0
0
0