อุทาหรณ์ สร้างบ้านไม่ใส่ใจการค้ำยัน อาจพินาศไม่รู้ตัว

   

        ในการก่อสร้างบ้านหรืออาคาร เราจะเห็นสิ่งหนึ่งที่ช่างมักจะสร้างเอาไว้นั่นก็คือ ไม้ค้ำยัน ซึ่งจะทำจากไม้หรือเหล็ก เป็นส่วนช่วยในการค้ำยันสิ่งปลูกสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จให้แข็งแรงต่อการต่อเติม 

         แต่ช่างหลายคนไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ ซึ่งนี่คืออุทาหรณ์ของการไม่ใช้ไม้ค้ำยัน โดยเฟซบุ๊กเพจ ฉิบหายแล้วบ้านกู ได้เผยภาพ พร้อมระบุว่า....

         "การทำโครงสร้างชั้นบนขึ้นไป ส่วนที่ต้องใส่ใจอย่างมาก อีกจุด แต่คนมักมองข้ามคือ "การค้ำยัน" ของทุกอย่างบนโลก ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งแรงดึงดูด

         ดังนั้น ของที่เราทำกันที่ชั้นบน มันก็จะถูกดึงลงสู่ชั้นล่างตลอดเวลา เมื่อต้องทำงานชั้นบน จึงต้องทำค้ำยันเอาไว้ช่วยก่อน จนกว่างานทุกอย่างจะสำเร็จเสร็จสิ้น การถ่ายแรงเป็นไปตามระบบที่ออกแบบเรียบร้อย จึงค่อยถอดส่วนค้ำยันออกไป

         ค้ำยันมีหลายประเภท ทั้งชนิดเม็ด ชนิดน้ำ ใช้อม ใช้ดม ทา เช็ดในหลอดเดียวกัน !!!!! เอาดีๆ ค้ำยันมีหลายประเภท มีทั้งชนิดไม้ ชนิดเหล็ก บางครั้งก็ใช้ผสมกันไป นอกจากนี้ อาจจะแบ่งตามลักษณะได้อีกเช่น ค้ำแบบเป็นท่อน หรือ ค้ำแบบนั่งร้าน ซึ่ง มันจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งสำคัญคือ เมื่อค้ำแล้ว มันต้องแข็งแรงเพียงพอและไม่เกะกะต่อการทำงานในส่วนที่ค้ำยันยืนอยู่

         ค้ำยันเป็นงานส่วนที่เป็นต้นทุน ส่วนใหญ่แล้ว มันถูกคิดเงินกับเจ้าบ้านในรูปแบบของ "ไม้แบบ" หรือบางครั้ง มันก็แอ้มแปะไปกับ "นั่งร้าน" การคิดค่าใช้จ่ายนี้ มันก็ออกมาในรูปแบบ งง งง คือ เจ้าบ้านบางคนคิดว่า ก็จ่ายเงินแล้ว ค้ำยันต้องเป็นของอั๊วะ

         แต่ เงินที่ ผรม. คิดไป บางครั้งมันเป็นแค่บางส่วน หรืออาจจะเปรียบได้กับแค่ "ค่าเช่า " เพราะเค้าก็มีของเค้าเดิน ที่วนใช้ได้ ไอ้แบบนี้ หลายครั้งก็เป็นเรื่องทะเลาะกัน

         ทีนี้ พอเรื่องของค้ำยัน มันไปเกี่ยวกับต้นทุน การลดต้นทุนก็เป็นเรื่องที่เฮียเค้าชื่นชอบ เพราะมันจะหมายถึงการเพิ่มขึ้นของกำไรในกระเป๋า เฮียเหมาก็มักบอกให้ลุงเข้ ใช้ค้ำยันน้อยๆ ประหยัดๆ เอาแบบ พออยู่ได้ จะได้ไม่ต้องซื้อของหรือเช่าเยอะ

         ลุงเข้เองก็รักสบาย ค้ำยันน้อย ก็เท่ากับ ทำงานน้อยลุงก็สั่งลูกน้องลุงเลยว่า ไม่ต้องค้ำเยอะ จากช่วงคานที่ต้องค้ำ 8 ตัว ก็ค้ำสัก 5 ตัวพอ เพื่อจะลดค่าแรงลง มันจึงเป็นที่มาของรูปด้านบน ฉิบหายน่ะซิจ๊ะ จะมีอะไร ?

         ก็บอกอยู่เสมอว่า คอนกรีต 1 ลบ.ม. มีน้ำหนักประมาณ 2.3 ตัน นั่นหมายความว่า คานขนาด 20 * 40 ซม. ยาว 4 เมตร จะมีน้ำหนักประมาณ 650 กก.ต่อชิ้น เมื่อมีน้ำหนักจากแผ่นพื้น จากคอนกรีตทับหน้าพื้นเข้ามาเพิ่ม มันอาจจะหนักไปถึงชิ้นละ 1 ตันได้

         การค้ำยันที่ไม่แข็งแรงเพียงพอ จะไม่สามารถรับน้ำหนักได้ดี ยิ่งในกรณีที่เกิดเหตุบางอย่าง ที่ทำให้เกิดแรงกระแทก เช่น การวางวัสดุที่ขนโดยเครน การเทคอนกรีตที่อาจจะปล่อยจากบัคเกตเครน การวางแผ่นพื้น ไอ้การกระแทกเหล่านี้ มันจะทำให้เกิดแรงที่มากในระยะเวลาสั้นๆ และนี่มักจะเป็นเหตุให้เกิดการวิบัติของค้ำยัน เมื่อค้ำยันเอาไม่อยู่ ทุกอย่างที่อยู่ข้างบนก็จะพังลงมา

         ถ้าตอนพัง ไม่มีอะไรอยู่ ไม่ว่าจะข้างล่าง ข้างบน อันนี้ก็ดีไป แต่ ถ้าตอนพังมีคนอยู่ อันนี้ ใครเห็นก็ว่าตาย งั้น ค้ำน้อยๆ ปล่อยของเบาๆแทนได้มั้ย ? อันนี้ก็ไม่ได้หรอกนะ ไม่ควรเสี่ยงด้วย เพราะ เราไม่มีทางจะคุมให้พี่ๆเค้าทำเบาๆได้เลย อีกอย่าง วัสดุทุกอย่างเมื่อแบกรับน้ำหนักที่เกินตัว มันจะเกิดความเครียดสะสมในตัวมันเองและเมื่อเครียดมากๆเข้า มันก็จะพังในสุด โดยไม่ต้องมีแรงอะไรเข้ามาเพิ่มเลยด้วยซ้ำ

ทำอะไรก็ทำไป แต่อย่าเสี่ยงกับค้ำยันเลยนะ"

         เป็นอีกหนึ่งคำเตือนที่ต้องให้ความสำคัญเลยทีเดียวค่ะ เพราะถ้าไม่อยากให้บ้านถล่มลงมาแบบในภาพ ก็ต้องสร้างค้ำยันที่ดี

เรียบเรียงโดย : daratop.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก ฉิบหายแล้วบ้านกู 

0
0
0